วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2557
ผลสำรวจยันเมืองไทยยังน่าเที่ยว ต่างชาติไม่ติดใจกับระบบการติดตามคดีเกาะเต่า วอนคนไทยกลับมาน่ารักเหมือนเดิม
เอ็นไวโรเซล (ประเทศไทย) สำรวจความคิดเห็นจากนักท่องเที่ยวชาวยุโรป รวมทั้งสหราชอาณาจักร 1,835 คน แบ่งเป็นชาวอังกฤษ 618 คน และประเทศอื่นในยุโรปอย่าง ออสเตรีย สเปน ฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมนี สวีเดน อิตาลี และ เนอเธอร์แลนด์ จำนวน 1,217 คน โดยผลสำรวจกระจายในแต่ละกลุ่มอาชีพและกลุ่มผู้ที่บรรลุนิติภาวะ ช่วงเวลาที่เก็บผลสำรวจ 13 ตุลาคม -16 ตุลาคม 2557 เกี่ยวกับเหตุการณ์ กรณีเกาะเต่า ที่ทำให้เกิดกระเสข่าวเกี่ยวกับคดีมากมาย ทั้งในจอและโลกออนไลน์นั้น ในความจริงแล้ว ต่างชาติยังคงมองว่าความสวยงามของสถานที่ในประเทศไทยยังเหมือนเดิม ซึ่งไม่กระทบการติดสินใจมาเที่ยวเมืองไทยของนักท่องเที่ยว แต่กลับพบผลติดลบเรื่องภาพลักษณ์คนไทย ที่ลดความน่ารัก และอัธยาศัยไมตรีลงไป บริษัท เอ็นไวโรเซล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทวิจัยยักษ์ใหญ่ระดับโลก โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ค และอีกหลายสาขาทั่วโลก ทำการสำรวจความเชื่อมั่นกับนักท่องเที่ยว ภายหลังมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เกาะเต่า พบว่า - มีจำนวนนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรที่รับรู้ข่าวเกี่ยวกับคดีเกาะเต่าถึง 94% และอีก 73% ในประเทศอื่นของยุโรป - ในจำนวนนี้ มีนักท่องเที่ยว 10% ที่มีแผนจะมาเมืองไทยใน 6 เดือน – 2 ปีข้างหน้า - 61% ยืนยันไม่เปลี่ยนแผน - ในขณะที่ 39% รอติดตามข่าวคดีเกาะเต่า เพื่อตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่าจากเหตุการณ์นี้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเป็นอย่างมาก - นอกจากนี้ 66% ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ยังคงติดตามข่าวคดีเกาะเต่าต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุด - 74% พบว่า ไม่ได้ติดใจกับระบบการจัดการ หรือการติดตามคดีเกาะเต่า - แต่ยังคงมี 26% ที่ยังคงติดใจ เพราะส่วนหนึ่งได้ยินกระแสเรื่องความไม่โปร่งใสของคดีนี้ ดังนั้น การสร้างกระแสข่าวที่เป็นด้านลบต่างๆ ที่มาจากทั้งคนไทยเอง เกี่ยวกับคดีนี้ อาจส่งผลต่อการจดจำภาพลบที่มีต่อประเทศไทยในระยะยาว - แต่อย่างไรก็ดี 85% ของนักท่องเที่ยวชาวยุโรป รวมถึง สหราชอาณาจักร ยังคงชื่นชอบประเทศไทย ด้วยเสน่ห์ของสถานที่ท่องเที่ยว อาหารไทย และเอกลักษณ์ความเป็นไทย การเก็บข้อมูลในช่วงกลางปี 2557 ของ บริษัทเอ็นไวโรเซล ประเทศไทย ในเรื่องของการท่องเที่ยวประเทศไทย (ก่อนเกิดเหตุ) เปรียบเทียบหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น พบว่า - ภาพลักษณ์ต่อสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทยยังไม่กระทบมากนัก แต่จากการสำรวจพบว่าเสน่ห์อันน่ารัก ความมีอัธยาศัยไมตรีของคนไทยในสายตาชาวต่างชาติ ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ (ลดลงถึง 9%) รวมถึงคะแนนความเชื่อมั่นในความปลอดภัยก็ลดลงเช่นเดียวกัน (ลดลง 5%) - ทั้งนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังอยากมาเที่ยวประเทศไทย ถึง 68% แม้จะมีความรู้สึกว่าความมีอัธยาศัยไมตรีอันดีของคนไทยจะลดลง - ชาวต่างชาติเข้าใจว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นสถานการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายประเทศ ซึ่งนักท่องเที่ยวเอง ก็ต้องรู้จักที่จะป้องกันตัวเองด้วย - และอีกกว่า 30% คิดว่า อาชญากรรมด้านการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับบางประเทศ ทั้งยังเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะทำให้มาตราการ ระบบรักษาความปลอดภัยภายในประเทศไทยเข้มงวดมากขึ้น - สำหรับสิ่งที่เร่งด่วนที่นักท่องเที่ยวอยากให้ประเทศไทยจัดการมากที่สุด เรียงตามลำดับคือ 1) จัดระบบรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ 2) มีศูนย์คอยช่วยเหลือ นักท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยว 3) มีบทลงโทษที่รุนแรง และเอาจริงสำหรับกลุ่มคนที่เอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว 4) มีการจัดระเบียบทัวร์เอเจนต์ แท็กซี่ ให้มีความน่าเชื่อถือ และซื่อสัตย์ - ส่วนช่องทางในการรับรู้ข่าวสารของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ 50% โทรทัศน์ 43% โดยเฉพาะจากทาง BBC ช่องทางเหล่านี้ จึงเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำความเข้าใจกับผู้สื่อข่าว เพื่อ คอยติดตามการนำเสนอข่าวที่ถูกต้องอย่างใกล้ชิด จากผลสำรวจ สรุปได้ว่า ภาพลักษณ์ประเทศไทย และคนไทยยังไม่ถึงกับบอบช้ำมาก นั่นก็เป็นเพราะชาวต่าวชาติยังชื่นชอบประเทศไทย ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอื่นๆ อีกมากมาย เช่น กรุงเทพ ภูเก็ต สมุย กระบี่ เชียงใหม่ ที่ไม่ใช่เกาะเต่าเท่านั้น สำหรับกระแสข่าวเรื่องเกาะเต่านั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยเพียงเล็กน้อย และนักท่องเที่ยวยังรู้คงสึกดีกับประเทศไทย แต่ความรู้สึกเรื่องของอัธยาศัยไมตรี สยามเมืองยิ้มของคนไทยกลับลดลง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่ต้องร่วมมือกัน สร้างภาพลักษณ์ที่ดี กอบกู้ชื่อเสียงประเทศ ด้วยการต้อนรับ และความมีมิตรไมตรีที่ดี รวมถึงนำความเป็นสยามเมืองยิ้มของคนไทยกลับคืนมา ผลการศึกษานี้จัดทำขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรป รวมถึงสหราชอาณาจักร จำนวนผู้ที่ได้ทำการศึกษาทั้งหมด 1,835 คน แบ่งเป็นชาวอังกฤษ 618 คน และประเทศอื่นในยุโรปอย่าง ออสเตรีย สเปน ฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมนี สวีเดน อิตาลี และ เนอเธอร์แลนด์ จำนวน 1,217 คน โดยผลสำรวจกระจายในแต่ละกลุ่มอาชีพและกลุ่มผู้ที่บรรลุนิติภาวะ ช่วงเวลาที่เก็บผลสำรวจ 13 ตุลาคม -16 ตุลาคม 2557 (ผลการศึกษาครั้งนี้จัดทำโดยบริษัทเอ็นไวโรเซล (ประเทศไทย)ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา และ พฤติกรรมผู้บริโภค ดำเนินธุรกิจวิจัยและที่ปรึกษามามากกว่า 27 ปี มีสำนักงานอยู่ 12 สาขาทั่วโลกโดยสำนักงานใหญ่อยู่ที่ นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ผลความน่าเชื่อถือวัดได้จากผลสำรวจความคิดเห็นผู้ที่จะไปเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา มีความแม่นยำถึง 93% เปรียบเทียบจากจำนวนผู้ที่ไปเลือกตั้งจริง)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น