วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Companion trip in Rangoon #3: ดาลา เจริญเกินสมดุล

มาพบกันเป็นครั้งที่สามนะครับ สำหรับบันทึกการเดินทางการไปเยือนพม่าครั้งแรกของผม ตอนนี้ผมลงจากเรือข้ามฟาก จากย่างกุ้งไปสู่เมืองดาลาแล้วครับ เมืองนี้ถือเป็นเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับย่างกุ้งที่ชาวพม่าโปรโมทในฐานะเมืองท่องเที่ยวเลย ไม่น่าเชื่อนะครับว่าระยะทางแม่น้ำกั้นไม่กี่เมตร แต่ทำให้ทั้งสองเมืองมีความแตกต่างกันขนาดนี้#3 ดาลา เจริญเกินสมดุล เวลาสมัครงาน ตอนต่อรองเงินเดือน เชื่อว่าหลายคนคงเจอคำพูดทำนองนี้อยู่บ้าง “บริษัทเราเป็นบริษัทเล็กๆ ให้เงินเดือนได้ไม่มาก แต่สัญญาว่า ‘พวกเรา’ จะเติบโตไปด้วยกัน” เติบโตไปด้วยกัน... ใช่ครับ พอเอาเข้าจริงมันก็จะเป็นอย่างนี้ บริษัทน่ะเจริญเอาๆ ส่วนคนทำงานอย่างเราก็ได้เงินเท่าเดิม ไม่ยักกะเจริญตามอย่างที่สัญญาไว้เลย แบบนี้ถือว่าเจริญแบบไม่สมดุลครับ เม่าอุ้มห่าน ชีวิตของชาวเมืองดาลาที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเมืองย่างกุ้งก็เช่นกัน... ชาวเมืองดาลาผู้ใช้บริการเรือข้ามฟากส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานที่ข้ามฝั่งมาทำงานในย่างกุ้ง กิจวัตรประจำวันของพวกเขาคือตื่นเช้ามาขึ้นเรือ ข้ามไปย่างกุ้งไปทำงาน ตกเย็นถึงค่ำก็นั่งเรือกลับ ผมเกิดคำถามว่า ทำไมไม่เช่าอพาตเมนต์ หรือบ้านเช่าอยู่ที่ย่างกุ้งไปเลย จะได้ไม่ต้องลำบากเดินทาง และเสี่ยงนั่งเรือเก่าๆ โทรมๆ ที่บรรทุกคนในชั่วโมงเร่งด่วนเที่ยวละสี่ร้อยห้าร้อยคน มีชุดชูชีพประดับไว้ไม่กี่ชุด แล่นผ่านแม่น้ำไหลเชี่ยว แบบนี้ทุกวัน แต่พอได้ทราบเรทราคาค่าเช่าที่พักที่ย่างกุ้งที่แพงกว่าค่าห้องเมืองไทย 4-5 เท่าแล้ว จึงได้เข้าใจว่า ไม่ใช่พวกเขาไม่อยากอยู่ย่างกุ้ง แต่อยู่ไม่ได้เพราะจ่ายเงินค่าหลังคาคุ้มหัวไม่ไหว ยิ่งเมืองเจริญ ราคาที่ดินก็ยิ่งถีบตัวสูงขึ้น ค่าครองชีพก็สูงขึ้นไปอีก ยอมลงทุนนั่งเรือกลับมานอนบ้านสบายใจกว่ากันเยอะ ที่เป็นอย่างนี้เพราะเมืองเจริญเกินจนเดินตามไม่ทัน... รัฐบาลเกาหลี เคยคิดแก้ปัญหาลดช่องว่างความแตกต่างระหว่างเมืองย่างกุ้ง-ดาลา ด้วยการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างสองฝั่ง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการสัญจรระหว่างสองเมืองนี้ แต่โครงการนี้ก็มีปัญหา เพราะการมีอยู่ของสะพานส่งผลกระทบต่อธุรกิจเรือข้ามฟาก พูดง่ายๆ คือ ไปขัดผลประโยชน์มาเฟียเรือโดยสารที่นั่นนั่นเอง มีคนเสนอว่า หากจะพัฒนาอะไรแล้วไม่อยากให้เกิดการต่อต้าน ก็ต้องมองก่อนว่าคนที่อยู่มาก่อนจะเสียผลประโยชน์หรือเปล่า ถ้าสามารถหาทางสายกลาง ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์แบบ Win-Win การเจรจาก็จะง่ายขึ้น แล้วสะพานข้ามฝั่งก็อาจเกิดขึ้น มีอยู่ และอยู่ต่อไปโดยไม่แตกดับได้ ถ้าเกาหลีคิดจะทำสะพานให้ใหม่ ก็คงต้องคิดเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วน เหมือนอย่างญี่ปุ่นที่เริ่มต้นจากการบริจาคเรือเฟอรี่ลำใหม่ให้พวกเขาเอาไปใช้งานก่อน แต่คิดดูอีกที ผมว่าดีแล้วล่ะที่ไม่มีสะพานข้ามฟาก แม้จะสะดวกมากขึ้น แต่ความเจริญก็จะแพร่ไปยังพื้นที่ฝั่งดาลาอย่างรวดเร็วเช่นกัน พอเมืองเจริญมากขึ้น ที่ดินก็จะแพงขึ้น (ซึ่งนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่แท้จริงที่ประเทศนายทุนดังกล่าวแสดงน้ำใจสร้างสะพานให้) ค่าครองชีพก็จะสูงตาม ซึ่งก็ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของชาวดาลาอีก ความเจริญอาจไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้นเสมอไป บางครั้งการค่อยๆ เจริญอย่างช้าๆ เจริญอย่างเหมาะสมกับจังหวะชีวิตของคนที่นั่น ก็อาจเป็นทางเลือกที่ถูกต้องกว่าเจริญอย่างก้าวกระโดดจนพวกเขาตามไม่ทัน ปล. พอเขียนถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของขนส่งมวลชนทำให้ผมคิดถึงตอนที่นั่งรถเมล์สาย 22 เข้าซอยลาดพร้าว 101 ทั้งที่ในซอยมีป้ายรถเมล์เป็นระยะ แต่คนขับปฏิเสธไม่ยอมให้ผมลงกลางทาง ต้องไปลงที่อู่เท่านั้น พอผมถามเหตุผลเขาก็บอกว่า เป็นข้อตกลงกับรถสองแถวที่วิ่งในซอย ผมไม่รู้นะว่าพวกพี่ๆ มีข้อตกลงอะไรกัน แต่ที่รู้ๆ คือ วันนั้นผมนั่งรถเมล์ไปลงที่อู่ท้ายซอย แล้วก็ต้องเสียเงินนั่งรถสองแถวกลับมาที่กลางซอยอีก...เจริญ เม่าโกรธ ขอบคุณทุกท่านที่สละเวลามาดูนะครับ แล้วพบกันใหม่ตอนหน้า สำหรับตอนเก่าๆ ดูได้ที่นี่ครับ #1 ย่างแรกที่ย่างกุ้ง http://pantip.com/topic/32694045 #2 ตลาดน้ำดำเนินโสร่ง http://pantip.com/topic/32697950 เครดิตภาพและบทความจาก https://www.facebook.com/Companiontv

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น