วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557
สืบทอดประเพณีชนเผ่า “ไหว้ผีหอเจ้านาย” เมืองโบราณอู่ทอง
ปั่นจักรยานโบราณ สัมผัสวิถีชีวิต “ลาวครั่ง” สืบทอดประเพณีชนเผ่า “ไหว้ผีหอเจ้านาย” เมืองโบราณอู่ทอง “ผี” คำที่หลายคนได้ยินแล้วมีอาการขนหัวลุก แต่ยังมีหลายๆชุมชน หลายๆชนเผ่าในประเทศไทยที่นับถือ “ผี” เพราะจริงๆแล้ว ผีก็เหมือนคน คือมีทั้งดีและไม่ดีปะปนกัน แต่ผีที่คนให้ความเคารพนับถือนั้นจัดเป็นผีดี เฉกเช่นคนดีก็ย่อมมีคนเคารพนับถือเช่นกัน หมู่บ้านโคก หรือ “บ้านโคก”(หมู่ที่ 3) ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ชุมชนซึ่งไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ “ลาวครั่ง” ถิ่นพำนักเดิมอยู่ทางฝั่งซ้ายของลุ่มแม่น้ำโขง แถบเทือกเขา เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ชื่อเดิมคือลาวภูครั่ง และเพี้ยนเป็นลาวครั่งในปัจจุบัน ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อครั้งที่กองทัพไทยเคยยกทัพไปตั้งมั่นชั่วคราวเพื่อทำสงครามกับเวียดนามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กวาดต้อนชาวลาวเมืองภูครั่งเข้ามาและส่งไปยังเมืองสุพรรณบุรีและเมืองนครชัยศรี โดยในเอกสารสมัยนั้นเรียกว่า ลาวภูครั่ง และ ลาวครั่ง วิถีชีวิตของชาวลาวครั่งที่น่าสนใจคือ “ประเพณีไหว้ผีหอเจ้านาย” ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ***บรรจุในปฏิทินท่องเที่ยว*** พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ได้อนุมัติให้สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง บรรจุงานประเพณี “ไหว้ผีหอเจ้านาย” ไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยวของพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ประเพณีดังกล่าวจัดขึ้นในเดือน 7 หรือประมาณเดือนมิถุนายน ของทุกปี พร้อมสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวด้วยการขี่จักรยานโบราณที่บ้านโคกแห่งนี้ เพราะเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านโคกที่โดดเด่น ในการมอบนโยบายการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าให้เมืองนี้เป็น ต้นแบบของ “การเรียนรู้ที่มีชีวิต” และเป็นวิถีชีวิตกินได้ ซึ่งหมายความว่า เป็นวิถีชีวิตของเมืองที่มีโบราณสถานโบราณวัตถุอายุกว่า 2,000 ปี และยังมีวัฒนธรรมความเชื่อที่ปฏิบัติสืบทอดมาถึงทุกวันนี้ และเมื่อได้รับกระบวนการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการจาก อพท. ทำให้ชุมชนมีความพร้อมที่จะเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้ได้เข้าไปสัมผัส ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่น่าดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากกว่าการเดินเที่ยวชมโบราณสถานซึ่งเป็นเพียงซากปรักหักพังเท่านั้น ดังนั้น ประเพณีวัฒนธรรมของชนเผ่าลาวครั่งที่มีอัตลักษณ์ และยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ตอกย้ำให้คนรุ่นหลังและคนต่างถิ่น ได้ใช้โอกาสนี้ เข้ามาศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตที่ยังมีให้เห็นอยู่ ส่วนการแต่งกายของชาวลาวครั่ง แม้อิทธิพลของแฟชั่นสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ก็ยังพอได้เห็นการนุ่งซิ่นย้อมครั่งหรือเสื้อย้อมคราม ซึ่งเป็นการแต่งกายของชาวลาวครั่งขนานแท้ ****เริ่ม 2 เส้นทางปั่นจักรยานชมวิถีชีวิต**** นางศิริกุล กสิวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า ชาวบ้านโคกมีความเชื่อความศรัทธาทั้งในทางพระพุทธศาสนาและในเรื่องของอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือที่เรียกกันว่า “ผี” ในเดือน 7 ของทุกปีจึงมีประเพณี “ไหว้ผีหอเจ้านาย” ประเพณีที่แสดงถึงความรักและความสามัคคีของชาวลาวครั่งที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน เป็นประเพณีที่ทุกช่วงวัยได้มีส่วนร่วม ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน และครั้งนี้ถือเป็นปีแรก ที่ อพท. เข้าไปร่วมในการจัดงาน นางอำพร ลีสุขสาม หรือผู้ใหญ่เงาะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า วิถีชีวิตของชาวลาวครั่งที่นี่คือทำนาทำสวนกันตามปรกติ ทุกบ้านมีจักรยานเพื่อใช้บรรทุกผลผลิตจากไร่สวน และต้องเป็นจักรยานโบราณ เพราะเป็นจักรยานที่มีขนาดใหญ่ มีที่นั่งและที่บรรทุกของตอนท้ายกว้าง สามารถขนผลิตผลทางการเกษตรเพื่อไปขายได้ครั้งละเป็น 100 กิโลกรัม เมื่อ อพท. เข้ามาดูแลให้คำปรึกษา ทำให้ชุมชนเริ่มเห็นโอกาสในการพัฒนานำวิถีชีวิตมาปรับให้เป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยว พร้อมก่อตั้ง “ชมรมจักรยานโบราณบ้านโคก” เพื่อรวมกลุ่มคนในหมู่บ้านปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ และยังตกแต่งจักรยานไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาได้เช่า ในราคาคันละ 30 บาท ต่อวัน “ตอนนี้ทางชุมชนได้ร่วมกับ อพท. โดยพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง พัฒนา 2 เส้นทางปั่นจักรยาน รวมระยะทางไม่ถึง 2 กิโลเมตร ได้แก่ เส้นทางชมธรรมชาติ ปั่นจักรยานชมสวนผักและทุ่งนา และ เส้นทางปั่นจักรยานชมวิถีชีวิตชุมชนลาวครั่ง 3 หมู่ ตลอดเส้นทางจะได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และได้เห็นบ้านเรือนที่ปลูกตามวัฒนธรรมของลาวครั่ง อย่างเช่น บ้านที่มีลูกสาว การปลูกบ้านจะต้องมีห้องสำหรับลูกสาว และห้ามผู้ชายขึ้นบ้าน ภาษาที่ใช้พูดกันในชุมชนก็ยังใช้ภาษาลาวครั่ง ซึ่งสำเนียงจะเร็วกว่าของคนจังหวัดเลย” สำหรับประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณคือ “ไหว้ผีหอเจ้านาย” เพราะลาวครั่งเป็นชนเผ่าที่นับถือผี โดยผีที่ชาวบ้านโคกนับถือมี 2 แบบ คือ ผีเทวดาและผีเจ้านาย ซึ่งผีเทวดาในที่นี้คือ รุกขเทวดา ที่เคยคุ้มครองบ้านเมืองตั้งแต่สมัยอยู่หลวงพระบาง ส่วนผีเจ้านาย คือผีบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็น “ผีดี” ที่คอยช่วยปกปักรักษาหมู่บ้านและชาวบ้าน โดยผีเจ้านายมีที่สถิตอยู่ที่ “หอเจ้านาย” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำหมู่บ้าน เปรียบเสมือนหลักเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านโคก เมื่อถึงฤดูทำไร่ทำนา ชาวบ้านจะมาขอผีเจ้านายให้ทำการเพาะปลูกได้ดี ลูกหลานใครเจ็บไข้ พ่อแม่ก็จะมาบนบานขอให้ผีเจ้านายช่วยรักษา “หอเจ้านายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว กำกับจิตใจและการกระทำของคนในหมู่บ้าน ให้ทำแต่ความดี ใครทำไม่ดี ผิดจารีต ผิดวิถี หรือเรียกกันว่า “ผิดผี” จะต้องมาสารภาพต่อหน้าเจ้าพ่อพร้อมแก้บนขอขมา” วันนี้บ้านโคกเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและนักทัศนาจร มีแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมมากขึ้น บางวันก็มีหน่วยงานหรือองค์กรเข้ามาเที่ยวศึกษาดูวิถีชีวิตของพวกเราชนเผ่า “ลาวครั่ง” ชาวบ้านทุกคนที่นี่ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน สามารถสอบถามข้อมูลและการเดินทางได้โดยตรงที่ผู้ใหญ่เงาะ โทร. 08 4457 7271
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น