วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557

10 วันในทิเบต : ความศรัทธาบนดินแดนหลังคาโลก ตามหาทางช้างเผือก Everest Base Camp ที่เกือบไม่ได้ไป (1)

17 ปีก่อน ดูหนังเรื่อง Seven years in Tibet จุดเริ่มต้นของความฝันถึงทิเบต แต่คิดว่าคงไม่มีโอกาสได้ไป ดูไกลตัวมาก 10 ปีก่อน อ่านหนังสือเกี่ยวกับทิเบต ยิ่งอ่านยิ่งชอบวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ผู้คน ความเชื่อ ความศรัทธา เสียงสวดมนต์ 6 ปีก่อน อ่านหนังสือเกี่ยวกับ Everest ฝันมาตลอดว่าต้องไปให้ได้ อยากรู้ว่าฟ้าต่ำจนเกือบเอื้อมหยิบดาวได้เป็นยังไง อยากนอนหลับท่ามกลางอ้อมกอดอันยิ่งใหญ่ของเทือกเขาหิมาล้อม แล้วตื่นมาพร้อมแสงแรกของพระอาทิตย์บน The north face ของยอดเขา Everest ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก 3 ปีก่อน อ่านหนังสือเกี่ยวกับรถไฟสายหลังคาโลก ฝันอีกครั้งว่าถ้าไปทิเบตต้องนั่งให้ได้ อยากรู้ว่านั่งรถไฟไปแตะหลังคาโลกเป็นยังไง การเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่วิ่งอยู่ท่ามกลางขุนเขาสูงเทียดฟ้าเป็นยังไง 17 ปีแห่งความฝัน กับ 10 วันแห่งความจริงคลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ แปะ Seven Years in Tibet Official Trailer ต้นกำเนิดความฝันของเราให้ดูค่ะ เผื่อใครดูแล้วจะได้แรงบันดาลใจไปทิเบตแบบเรา ^^ จากมนุษย์ที่ราบลุ่มเจ้าพระยา อาศัยอยู่ในระดับน้ำทะเลมาตลอดชีวิต กำลังจะไปอยู่ในดินแดนหลังคาโลก ความสูงระดับน้ำทะเล 3600 เมตร ที่ลาซา และ 5200 เมตร ที่ EBC เรารู้สึกเอาเองว่า ช่วงเวลานี้ของชีวิต พร้อมที่สุดกับการไปผจญภัย ในสถานที่ที่เค้าว่าต้องการแรงกาย แรงใจ แรงศรัทธาอย่างมากในการนำชีวิตไปท่องเที่ยว จากที่อ่านตามหนังสือและในอินเตอร์เนต พบว่าความเป็นอยู่ระหว่างการเที่ยวไม่ได้สบายมากนัก บางที่อาจต้องใช้คำว่าลำบาก และไหนจะต้องไปเจอกับ Altitude sickness อีก ไปทรมานชัดๆ แต่ในเมื่อมันคือความฝันมาตลอด ในระยะเวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิต ยังไงก็ต้องไป เราขอเขียนกระทู้แบบเล่าเรื่องไปเรื่อยๆนะคะ ตั้งแต่การเตรียมตัวจากเมืองไทย ปัญหาที่เจอระหว่างเดินทาง จนทำให้แต่ระหว่างทางมีการปรับเปลี่ยนแผนการพอสมควร ติดตามอ่านไปเรื่อยๆละกันนะคะ ถือว่ามาเที่ยวพร้อมกันเนอะ ก่อนอื่นขอขอบคุณก่อนนะคะ - ทริปนี้จะเกิดขึ้นและสนุกอย่างนี้ไม่ได้เลย ถ้าขาดเพื่อนร่วมทริปที่น่ารักอีก 5 คน ขอบคุณที่มาเดินทางตามความฝันด้วยกันนะคะ - ขอบคุณทุกท่านที่เขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆลงในอินเตอร์เนต โดยเฉพาะเพื่อนๆห้องบลู เราได้ความรู้จากห้องนี้เยอะมากค่ะ ไปเที่ยวแต่ละที เก็บเกี่ยวข้อมูลจากห้องนี้ตลอด วันนี้ขอเขียนเรื่องราวตอบแทนบ้างนะคะ - ขอบคุณน้าๆห้องกล้องสำหรับความรู้ทุกอย่างนะคะ แอบเก็บความรู้ตั้งแต่เลือกซื้อกล้อง การถ่ายรูป จนถึง Process รูป เรียกว่าครบกระบวนการเลยทีเดียว ขอบคุณมากๆค่ะ สำหรับค้นคว้า เรามี Keyword การเที่ยวครั้งนี้ดังนี้ค่ะ ทิเบต(Tibet), ถ่ายทางช้างเผือก(Milky way), Everest base campการเตรียมตัวก่อนไปช่วงเวลาที่เลือกไป ช่วงเวลาที่เราเลือกที่จะไปคือ วันที่ 9-19 ตุลาคม 2557 ค่ะ ความจริงทิเบตและ Everest base camp(EBC) สามารถไปได้ 2 ช่วงที่เป็นที่นิยมเนื่องจากไม่หนาวเกินและไม่มีฝน คือ ช่วงเมษายน-พฤษภาคม และตุลาคม-พฤศจิกายน แต่เราเลือกไปตุลาเพราะเราชอบฤดูใบไม้ร่วง ใบไม้สีเหลือง สีแดง อากาศเริ่มเย็น ดังนั้นไม่ว่าจะไปเที่ยวไหน ถ้าเลือกได้ เรามักจะไปตุลา พฤศจิกาเป็นหลักสถานที่ที่จะไป เป้าหมายหลักคือ Lhasa(ลาซา) เมืองหลวงทิเบต และ Everest base camp เราเลยค้นในอินเตอร์เนตว่า ลาซาเราควรไปเที่ยวที่ไหนบ้าง การดื่มด่ำ EBC ที่ดีที่สุดควรทำอย่างไร ที่ไหนและพี่ที่ไปด้วยกันอยากถ่ายทางช้างเผือก ดาวเต็มฟ้า ควรถ่ายที่ไหน อย่างไร แผนการท่องเที่ยวจึงออกมาแบบนี้ค่ะ เริ่มจาก ลาซา สถานที่ที่เราจะไปมีดังนี้ (2 วัน) - พระราชวังโพทารา (Potala Palace) - อารามเดรปุง (Drepung Monastery) - วัดโจคัง (Jokang Temple) - ถนนบาคอร์ (Barkor street) - พระราชวังฤดูร้อนนอร์บูลิงกะ (Norbulingka) - พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทิเบต (Tibet national museum) - อารามเซรา (Sera monastery) จากลาซาเราจะมุ่งหน้าไป EBC ขับตามถนนสายมิตรภาพ (Friendship Highway) ต้องผ่านหลายสถานที่ที่สวยงาม เราจึงตัดสินใจแวะไปเรื่อยๆ ดังนี้ - ทะเลสาบยัมดร็อก (Yamdrok lake) - ธารน้ำแข็งคาโรลา (Karola Glacier) - แวะเมืองเจียนเซ่ (Gyantse) ไปเที่ยวอารามเพลกอร์โชเด (Palkhor Chode Monastery) - พักที่เมืองชิกัตเซ่ (Shigaste) แวะเที่ยวอารามทาชิหลุนโป (Tashilunpo monastery) - ผ่านเมืองทิงกริ (Tingri) (Shegar) ถึง EBC - แวะเที่ยวอารามรองบุก (Rongbuk monastery) - นอน EBC tent - ดูพระอาทิตย์ขึ้น เห็นแสงแรกที่ The north face ของ Everest แผนที่ตามที่เราจะเที่ยวค่ะ จาก : http://blog.snowliontours.com/wp-content/uploads/2010/05/Lhasa-area-map.jpg ที่ใส่ดาวสีแดงคือเมืองที่เราแวะนะคะ จากลาซา แผนการเดิมเราจะวิ่ง Southern Friendship highway(เส้นสีเขียวด้านล่าง) เพื่อแวะทะเลสาบยัมดร็อก, ธารน้ำแข็งคาโรลา, แวะเมืองเจียนเซ่ (Gyantse) ไปเที่ยวอารามเพลกอร์โชเด, พักที่เมืองชิกัตเซ่ (Shigaste) ขากลับเรากลับทาง Northern Friendship highway(เส้นสีน้ำเงินด้านบน) ซึ่งจะตรงไปลาซากว่า Southen Friendship highway จาก http://windhorsetour.com/tibet-culture/tibet-map-where-is-tibet ทางไป EBC ขึ้นได้สองทาง จากเริ่มต้นตรงใกล้ๆ Shegar จะใกล้กว่า เริ่มต้นที่ Tingri แต่เราต้องเริ่มขึ้นที่ Tingri เพราะทางจาก Shegar ขึ้น EBC ปิดค่ะ อันนี้คือแผนการเริ่มแรกของเรา ส่วนความเป็นจริงจะเจอสถานการณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลงขนาดไหน อันนี้ต้องติดตามนะคะ เราเพิ่มที่เที่ยวเฉิงตู 1 วัน เพราะเราบินไปถึง 7 โมงเช้า ขึ้นรถไฟ 20.45 - อารามเวนชู (Wenshu Monastery) - วัดวูเฮา (Wuhou memorial temple) - ถนนโบราณจินลี (Jinli ancient street)ไปยังไง ขาไป : เราบินจากกรุงเทพไปลงเฉิงตู และนั่งรถไฟสาย T22 เพื่อไปลาซาตามความตั้งใจ รถไฟขบวนนี้จากเฉิงตูจะไปแวะเมืองใหญ่อีกเมืองคือซีหนิง(Xining) เราสามารถขึ้นสถานีนี้ได้เช่นกัน แต่เราอยากนั่งรถไฟนานๆ ชมวิวระหว่างทางไปเรื่อยๆเลยเลือกขึ้นที่เฉิงตู รถไฟสายนี้ก็คือ สายชิงไห่-ทิเบต รถไฟสายหลังคาโลกนั่นเอง จากเวบ : http://easytourchina.wordpress.com/tag/qinghai-tibet-railway-map/ ขากลับ : เราบินจากลาซาไปเฉิงตูเพื่อนั่งเครื่องกลับกรุงเทพ เพื่อความประหยัดเวลา และอยากชมวิวทางอากาศบ้าง เราได้แผนการคร่าวๆเรียบร้อย แต่จากที่หาข้อมูลพบว่าทิเบตเที่ยวเองไม่ได้ ต้องมีไกด์นำเท่านั้น เราเลยหาเอเจนซี่ที่จะมาจัดการเรื่องไกด์ให้กับเรา เอเจนซี่ที่เราเลือกใช้บริการคือ www.chinayak.com เนื่องจากพี่สาวเคยใช้บริการตอนไปทิเบตเมื่อ 2 ปีก่อนแล้วไม่โดนหลอก เลยใช้ตามพี่ค่ะ แนะนำ : จะใช้บริการเอเจนซี่ไหน ควรมีคนไทยเคยใช้ แล้วรีวิวว่าโอเค จะปลอดภัยกว่า สำหรับเรา chinayak ถือว่าโอเคมากค่ะ เราติดต่อเอเจนซี่ทางเมล์ ชื่อคุณเจน น่ารักมาก ภาษาอังกฤษดีเลิศ ใส่ใจ และมี Service mind มาก และที่สำคัญตอบเมล์เร็วมากค่ะ เราทำโปรแกรมให้เค้าเลยว่าเราจะไปที่ไหนวันไหน โดยอะไร นอนที่เมืองไหน ต้องการพักแบบไหน ซึ่งเค้าทำให้เราได้ตามที่เราต้องการทั้งหมด เนื่องจากเราไปแบบ Private Tour 6 คน สิ่งที่เอเจนซี่เตรียมให้เรามีดังนี้ - รถตู้ 11 ที่นั่ง คนขับ น้ำมัน ค่าเข้าสถานที่ของรถ รับส่งสถานีรถไฟขามา สนามบินขากลับ และตลอดทริปตามโปรแกรม - ไกด์ทิเบตพูดอังกฤษได้ - ค่าเข้าชมทั้งหมด - Tibet permit - ตั๋วรถไฟเฉิงตู - ลาซา แบบ Soft sleeper(ห้องนึงมี 4 เตียง) ซึ่งถือว่าเป็น First class ของรถไฟสายนี้ - ตั๋วเครื่องบินลาซา-เฉิงตู - ค่าที่พัก พร้อมอาหารเช้า - ประกันอุบัติเหตุ - ค่าพาหนะขึ้น EBC ราคาต่อคน 7700 หยวน โดยแบ่งเป็น - จ่ายล่วงหน้า 3900 หยวน เพื่อการันตีว่าเราจะเดินทางแน่ๆ เมื่อบริษัทได้เงินส่วนนี้ เค้าจะจัดการซื้อตั๋วรถไฟตั๋วเครื่องบิน Tibet permit จองที่พัก ไกด์ รถ ให้เรา - จ่ายวันที่นัดเจอกันเอาตั๋วรถไฟที่ Chengdu North Station อีก 3800 หยวนต่อคนสภาพอากาศที่เช็คล่วงหน้า เพื่อการเตรียมเสื้อผ้าค่ะ - เฉิงตู อุณหภูมิสูงสุด 30 - ลาซา สูงสุด 13 ต่ำสุด 0 - ชิกัตเซ่ (Shigatse) สูงสุด 17 ต่ำสุด 3 - ทิงริ (Tingri) สูงสุด 11 ต่ำสุด -7 - EBC ต่ำสุด -10 ถึง -15ติดต่อกลับบ้าน เราเปิดโรมมิ่งไป ให้เลือกสัญญาณ China mobile ที่แม้แต่ EBC ยังมีสัญญาณ ส่วนซิมจีน ต้องมี ID card ถึงซื้อได้สิ่งที่เตรียมไป ส่วนเสื้อผ้าคือ - เสื้อยืด 3 ตัว - กางเกงผ้า 1 กางเกงยีนส์ 1 - Base layer เสื้อ กางเกง - Down jacket - Jacket - ถุงมือ - หมวก - ที่ปิดหู - ถุงเท้า Heat tech แนะนำ : จะบอกว่าเราเจออุณหภูมิต่ำสุด -6 องศา พร้อมลม ส่วนลำตัวถึงหัว เสื้อผ้าแค่นี้เอาอยู่นะคะ แต่ขากับเท้าหนาวเหน็บ ไปงวดหน้าคงต้องเปลี่ยมกางเกง ถุงเท้า และรองเท้าค่ะ สิ่งของ เครื่องใช้ - กล้องถ่ายรูป พร้อมที่ชาร์จ - ขาตั้งกล้อง (ไว้ถ่ายทางช้างเผือกและดาว) - ไฟฉายกระบอกใหญ่ (เตรียมนอนที่ EBC) - Universal plug - ปลั๊กพ่วง - มือถือ - แก้วสแตนเลทพร้อมฝาปิด (ต้มมาม่า ชงโอวัลติน) - ทิชชู่เปียก เพื่อเช็ดตัวแทนอาบน้ำ (บนรถไฟ 2 คืนไม่ได้อาบน้ำแน่ๆ คืนที่ค้าง EBC คืน คืนอื่นๆที่หนาว) - ทิชชู่ธรรมดา - หมวก แว่นตาดำ ครีมกันแดด (แดดแรงมาก) - ที่รองคอ ที่ปิดตา ใช้เวลานอนหลับ - ลิปมัน ครีม เพราะอากาศแห้งมาก อาหาร (ต่อ 1 คน) - มาม่า 10 ห่อ - หมูแท่งกรอบ 3 ห่อ - หมูหยอง - โจ๊ก 4 ห่อ - โอวัลติน 7 ซอง - เนสวีต้า 7 ซอง แนะนำ : เอาไปแค่กินบนรถไฟก็พอนะคะ เพราะพอเจอไกด์แล้ว เค้าจะพาเราไปกินอาหารที่ร้านทุกมื้อค่ะ ไม่ต้องกลัวอด ส่วนอาหารก็ใช้ได้นะคะ มีถ่ายรูปมาให้ดู อย่าคิดจะไปไดเอทที่ทิเบตนะคะ เพราะจะทำไม่ได้ ยา - Diamox (ป้องกัน Altitude sickness) - ยาพารา (แก้ปวดหัวจาก Altitude sickness) - เนื่องจากเราเป็นภูมิแพ้ ทำให้คัดจมูกเสมอ การที่คัดจมูกจะทำให้ oxygen เข้าร่างกายน้อยลง จะยิ่งเพิ่มอาการ Altitude sickness เราจึงเตรียมยาส่วนตัวไปด้วยคือ Avamys พ่นจมูก, Aerius กิน - นอกนั้นก็ยาสามัญทั่วๆไปสรุปค่าใช้จ่ายทั้งทริป - ค่าตั๋วเครื่องบิน ไปกลับ กรุงเทพ-เฉิงตู 11,900 บาท - ค่าใช้จ่ายที่เอเจนซี่เก็บทั้งหมด 7700 หยวน (คิด 5.5 บาท = 1 หยวน) 42,000 บาท - แลกเงินไป 7,500 บาท (ใช้กินข้าวกลางวัน - เย็น ซึ่งไม่เกินมื้อละ 250 บาท + ทริปไกด์และคนขับรถ 200 หยวน = 1,100 บาท + ซื้อของเล็กๆน้อยๆ) รวม 61,000 บาท แก้ไขข้อความเมื่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น